วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 3 
วันจันทร์ ที่ 26 มกราคม 2559 เวลา 10:30 - 12:30 น.


วันนี้เริ่มจากการปั๊มใบเช็คชื่อเข้าเรียน และทบทวนสิ่งที่เรียนในสัปดาห์ที่แล้วก่อนจะเข้าเนื้อหาการเรียน

การจัดประสบการณ์การเคลื่อนไหวสำหรับเด็กปฐมวัย 

ประเภทของกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
Annareno,1973  ได้จัดหมวดหมู่การเคลื่อนไหวตามลักษณะของการเคลื่อนไหวพื้นฐานไว้ดังนี้ คือ
1. การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับร่างกาย
            1.1 การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ขั้นพื้นฐาน (Basic Loco motor) การเดิน  การวิ่ง  การกระโดด  การคลาน เป็นต้น
             1.2 การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่ (Basic Non-Loco motor) การดัน  การบิด  การเหยียด เป็นต้น
2. การเคลื่อนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ
              2.1  การทำให้วัตถุอยู่นิ่งเคลื่อนที่ เช่น การขว้าง การตี เป็นต้น
              2.2 การหยุดวัตถุที่เคลื่อนที่ เช่น การรับ การหยุด เป็นต้น

Sapore and Mitehell, 1961  ได้แบ่งการเคลื่อนไหวออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน หมายถึง การเคลื่อนไหวที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ ของลำตัว แขน ขา เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การว่ายน้ำ ฯลฯ เป็นการเคลื่อนไหวที่สามารถพบเห็นได้ทั่วๆ ไป และมีอิทธิพลต่อการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย
2. การเคลื่อนไหวเสริม หมายถึง การเคลื่อนไหวที่พัฒนาภายหลังจากการเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐาน ส่วนมากจะต้องอาศัยทักษะที่ละเอียดอ่อน และไม่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อใหญ่ เท่าใดนัก  เช่น การพูด การพิมพ์ดีด การสีไวโอลิน เป็นต้น
สำนักพัฒนากรมพลศึกษา สุขภาพและอนามัย กรมพลศึกษา (2543) กล่าวถึง ประเภทของกิจกรรมเคลื่อนไหวเข้าจังหวะ แบ่งออกเป็น
             1. ประเภทเคลื่อนไหวขั้นพื้นฐานตามจังหวะ
             2. ประเภทฝึกปฏิบัติตามสัญญาณหรือข้อตกลง
             3. ประเภทกิจกรรมเนื้อหา
             4. ประเภทฝึกจินตนาการจากคำบรรยาย
             5. ประเภทกิจกรรมฝึกความจำ
เยาวพา  เดชะคุปต์ (2542)  ได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวพื้นฐานหรือการเน้นจังหวะไว้ว่า การปูพื้นฐานที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในด้านจังหวะ ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ เช่น
             - ปรบมือตามครูให้เข้ากับจังหวะ
              - เต้นย่ำเท้าตามจังหวะของเสียงเพลง
             - ย่ำเท้าตามจังหวะที่ครูเคาะหรือให้สัญญาณ
              - กระโดดตามจังหวะที่ครูให้สัญญาณ
             - การทำท่าเลียนแบบการเคลื่อนไหวของสัตว์ชนิดต่างๆ
             - การเลียนแบบสัตว์ เช่น นก ไก่ แมว หมา ฯลฯ หรือเลียนเสียงตามแบบสิ่งของต่างๆ เช่น เสียงนาฬิกา เสียงหวูดรถไฟ เป็นต้น
 การเคลื่อนไหวเบื้องต้น
            เมื่อได้ยินจังหวะดังเน้นหนัก เด็กอาจนึกถึงการเดินแถวแบบทหาร หรือการกระโดดของกบ การควบม้า ฯลฯ
            เมื่อได้ยินเสียงจังหวะที่เบา ๆ และช้าๆ เด็กอาจนึกถึงการเคลื่อนไหวของใบไม้ที่ต้องลม นกกำลังบิน ตัวหนอนกำลังคลาน ว่าวกำลังลอย ฯลฯ
การเคลื่อนไหวประกอบเพลง
            การเล่นเกมประกอบเพลง เช่น เก้าอี้ดนตรี ฯลฯ
            การเล่นเกมต่างๆ ของไทย เช่น มอญซ่อนผ้า งูกินหาง รีรีข้าวสาร ฯลฯ
            การเคลื่อนไหวประกอบเพลง (การร้องเพลงประกอบท่าทาง) เช่น การเคลื่อนไหวประกอบเพลงกระต่าย ฯลฯ
            การเต้นรำพื้นเมือง เช่น การเต้นรำของชาวพื้นเมืองเดนมาร์ก เพลงช่างทำรองเท้า ฯลฯ
เพลงที่มีท่าทางประกอบและการเล่นประกอบเพลง
เป็นการเคลื่อนไหวที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้หัดรวบรวมความคิด และสนใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ เด็กรู้จักบังคับการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น นิ้วมือ แขน ขา มือให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กันตามจังหวะ
สุรางค์ศรี  เมธานนท์ (2528) ได้จัดประเภทของการเคลื่อนไหวได้ดังนี้
            1. การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่
            2. การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่
การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่
            การก้มตัว
            การเหยียดตัว
            การบิดตัว
            การหมุนตัว
            การโยกตัว
            การแกว่งหรือหมุนเวียน
            การโอนเอน
            การดัน
            การสั่น
            การตี

การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่
            การเดิน
            การวิ่ง
            การกระโดดเขย่ง
            การกระโจน
            การโดดสลับเท้า
            การสไลด์
            การควบม้า
วรศักดิ์  เพียรชอบ (2527) ได้แบ่งกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
             1.  การเคลื่อนไหวแบบยืนอยู่กับที่
             2.  การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่จากที่เดิม
             3.  การเคลื่อนไหวแบบประกอบอุปกรณ์หรือวัตถุ
การรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย
            การเตรียมร่างกายให้พร้อมทุกส่วน เพื่อให้มีความคล่องตัว ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญอย่างหนึ่ง เด็กต้องรู้ว่าร่างกายแต่ละส่วนเคลื่อนไหวอย่างไรและมากน้อยเพียงใด เด็กจะต้องฝึกหัดให้เข้าใจถึงลักษณะสภาพและการใช้ร่างกายของตนเองว่าตนเองสามารถเคลื่อนไหวแต่ละส่วนได้อย่างไร ร่างกายส่วนไหนเรียกว่าอะไร อยู่ตรงไหน มีขนาดสั้นยาว เล็กใหญ่ แคบกว้างอย่างไร
บริเวณและเนื้อที่
            การเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็นเพียงการขยับเขยื้อนร่างกายบางส่วนหรือการเคลื่อนตัวย่อมต้องการบริเวณและเนื้อที่ที่จะเคลื่อนไหวได้จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งตลอดเวลา บริเวณเนื้อที่จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว การใช้เนื้อที่ทั่วไปในขอบเขตที่กำหนดคือการเคลื่อนตัวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือเคลื่อนเป็นกลุ่ม เวลาที่เด็กเคลื่อนไหวเด็กสามารถจัดระยะระหว่างตนเองกับผู้อื่น โดยไม่ให้ชนกับผู้ใดและเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มีอิสระในการเคลื่อนไหว ซึ่งอาจจะมีเล็กบ้าง ใหญ่บ้างเด็กจะต้องรู้จักใช้เนื้อที่ให้เต็มและได้จังหวะ
ระดับการเคลื่อนไหว
            ระดับการเคลื่อนไหวทุกชนิดหารไม่มีการเปลี่ยนแปลงระดับความสวยงาม ความสมดุล ความเหมาะสมและท่าทางที่หลากหลายจะไม่เกิดขึ้น จะปรากฏแต่ความจำเจ ซ้ำซาก ไม่น่าดู ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนระดับของการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น เซิ้งอีสาน หรือรำกลองยาว มีการก้ม เงย แขนโบกขึ้นลง มียืน นั่ง กระโดด ฯลฯ การเปลี่ยนระดับทำให้เกิดท่าทางและการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป การเคลื่อนไหวมี 3 ระดับ คือ สูง กลาง ต่ำ
ทิศทางของการเคลื่อนไหว
            การเคลื่อนไหวย่อมมีทิศทางไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ไปข้างๆ หรือเคลื่อนตัวไปรอบทิศ (คือหมุนตัวไปทุกทิศทุกทาง)  ถ้าไม่ได้รับการฝึกไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มักจะเคลื่อนไหวไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว
การฝึกจังหวะ
            การทำจังหวะนั้นมิได้หมายถึงการกำกับจังหวะด้วยการตบมือ เคาะเท้าหรือใช้เครื่องให้จังหวะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการทำจังหวะด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งอาจจะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง การเปล่งเสียงออกจากลำคอ การทำให้ร่างกายส่วนต่างๆ เกิดเสียงก็ได้ทั้งสิ้น การทำจังหวะแบ่งออกเป็น 4 วิธี
             1. การทำจังหวะด้วยการใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย
             2. การทำจังหวะด้วยการเปล่งเสียง
             3. การทำจังหวะด้วยการใช้เครื่องเคาะจังหวะ
             4. การทำจังหวะด้วยการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวพื้นฐาน
            การเคลื่อนไหวพื้นฐานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ ได้แก่ การเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ณ จุดใดจุดหนึ่ง โดย ร่างกายจะไม่เคลื่อนออกไปจากจุดนั้นเลย
2. การเคลื่อนไหวที่เคลื่อนที่ ได้แก่ การเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การ กระโดด ฯลฯ

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
1. พัฒนาอวัยวะทุกส่วนของร่างกายให้ได้เคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน
2. ให้เด็กได้ผ่อนคลายความตึงเครียด
3. ให้เด็กได้รับประสบการณ์ ความสนุกสนาน รื่นเริง โดยผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย
4. สนองความต้องการตามธรรมชาติ ความสนใจและความพอใจของเด็ก
5. ให้เด็กเกิดความซาบซึ้งและมีสุนทรียภาพในการเคลื่อนไหวอย่างเสรีตามจังหวะ รวมทั้งเกิดทักษะ ในการฟังดนตรีหรือจังหวะต่างๆ
6. พัฒนาทักษะด้านสังคม การปรับตัว และความร่วมมือในกลุ่ม
7. ให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และให้เด็กได้มีโอกาสแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
8. พัฒนาภาษา ฝึกฟังคำสั่งข้อตกลง และปฏิบัติตามได้
9. ฝึกการเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี


การเตรียมร่างกาย
วิธีการศึกษาการเตรียมร่างกาย 
             1. ให้รู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกายว่าชื่ออะไร อยู่ตรงไหน และมีส่วนใดบ้างที่เคลื่อนไหวได้ มาก น้อย เพียงใด
            2. ขณะเคลื่อนไหว ควรฝึกให้เด็กรู้ตัวว่าร่างกายหรืออวัยวะส่วนใดกำลังเคลื่อนไหวหรือทำอะไรอยู่

ตัวอย่างการฝึกเตรียมร่างกาย
            1. ให้เด็กแตะสัมผัสส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศีรษะ คอ ไหล่ สะโพก ฯลฯ โดยครูบอกให้เด็กได้รู้จักชื่อและสามารถชี้ส่วนต่างๆ ของร่างกายว่ามีอะไรบ้าง
            2. ให้เด็กลองสำรวจร่างกายดูว่า ส่วนใดเอนเอียงโค้งงอ เหวี่ยง หมุนกวัดแกว่งได้มากน้อย เพียงใด
            3. ให้เด็กชี้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทีละส่วนอย่างรวดเร็ว เช่น แขน ข้อศอก ข้อมือ นิ้วมือ ตา จมูก ข้อเท้า เข่า ฯลฯ และให้ลองขยับเขยื้อนดูทีละส่วน
            4. ให้เด็กหาพื้นที่ให้ตัวเองและลองจัดท่าทาง โดยเน้นให้จัดแขน ขา หรือลำตัวส่วนใดส่วนหนึ่ง แล้วอยู่นิ่งในท่านั้น สลับกันไป


ข้อเสนอแนะ
            1. ควรยึดหลักการจัดกิจกรรมที่เน้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงและมีโอกาสค้นพบด้วยตนเองให้มากที่สุด 
            2. ผู้เลี้ยงดูเด็กควรยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายของเด็กและให้โอกาสเด็กได้ฝึกคิด 
            3. อาจเชิญวิทยากรมาให้ความรู้แทนผู้เลี้ยงดูเด็ก เช่น พ่อแม่ ตำรวจ หมอ ฯลฯ จะช่วยให้เด็กสนใจและสนุกสนานยิ่งขึ้น 
            4. ในขณะที่เด็กทำกิจกรรม หรือหลังจากทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ผู้เลี้ยงดูเด็กควรใช้คำถามปลายเปิดที่ชวนให้เด็กคิด ไม่ควรใช้คำถามที่มีคำตอบ “ใช่” “ไม่ใช่” หรือมีคำตอบให้เด็กเลือก และผู้เลี้ยงดูเด็กควรใจเย็นให้เวลาเด็กคิดคำตอบ 
            5. ช่วงระยะเวลาที่จัดกิจกรรมสามารถยึดหยุ่นได้ตามเหมาะสม ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความสนใจของเด็กและความเหมาะสมของกิจกรรมนั้น ๆ เช่น กิจกรรมการศึกษานอกสถานที่ การประกอบอาหาร การปลูกพืชอาจใช้เวลานานกว่าที่กำหนดได้


แนวทางการประเมิน
          1. สังเกตการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย          
          2. สังเกตการทำท่าทางแปลกใหม่ ไม่ซ้ำกัน          
          3. สังเกตการทำท่าทางตามคำสั่งและข้อตกลง          
          4. สังเกตการแสดงออก           
          5. สังเกตความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรม



วันพฤหัสบดี ที่ 29 มกราคม 2559 เวลา 11:30 - 14:30 น.
เนื่องจากอาจารย์ไม่สบายจึงงดการเรียนการสอน


 ความรู้ที่ได้รับและการนำไปประยุกต์ใช้ 
          ได้รับความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ทั้งการเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ทำให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนในกิจกรรมการเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

 การประเมิน 
ประเมินตนเอง
          เข้าเรียนตรงเวลา ตั้งใจเรียนและไม่รบกวนเพื่อนในเวลาเรียน ทำกิจกรรมการเรียนสอนอย่างเต็มที่
ประเมินเพื่อนร่วมชั้นเรียน
          เพื่อนๆเข้าเรียนตรงเวลา และมีความตั้งใจเรียน มีการบันทึกระหว่างการเรียนการสอน
ประเมินอาจารย์ผู้สอน
          อาจารย์เข้าสอนตรงเวลาตั้งใจสอนและมีความเป็นกันเอง จึงทำให้บรรยากาศการเรียนการสอนไม่ตึงเครียดมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น